กินได้หรือไม่ได้กันแน่? เมื่อเจอ เชื้อรา สีขาวๆ บนมะขามหวาน ผู้บริโภคสับสนว่ายังกินได้ไหมหรือต้องทิ้งไป? บางฝ่ายก็บอกว่ากินได้ ไม่อันตราย แต่ล่าสุด… กรมอนามัยออกมาชี้แจงว่าไม่ควรกิน
.
ช่วงนี้หลายคนคงจะสังเกตเห็นว่า มีผลไม้ไทยชนิดหนึ่งที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากและมีจำหน่ายตามท้องตลาดในช่วงฤดูกาลนี้ นั่นคือ “มะขามหวาน” ซึ่งเป็นผลไม้ที่สามารถพบได้ในหลายจังหวัดของไทย แต่ที่มีชื่อเสียงและถือเป็นสินค้า GI ที่โด่งดังระดับประเทศ คงหนีไม่พ้น “มะขามหวานเพชรบูรณ์”
.
โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า มะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นสินค้า GI ที่ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ (เวียดนาม, จีน, แถบยุโรป) และสร้างเม็ดเงินให้ผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบูรณ์กว่า 3,900 ล้านบาทต่อปี
.
ใครที่ชอบรับประทาน “มะขามหวาน” ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตามธรรมชาติของมะขามหวาน เมื่อเจออากาศที่ชื้นเกินไปจะทำให้เนื้อของมะขามหวานเป็น “เชื้อรา” สีขาวๆ (เชื้อราจัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งในกลุ่ม fungi มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ) ซึ่งหลายคนอาจมีความกังวลว่า หากเผลอกินเนื้อมะขามหวานที่มีเชื้อราดังกล่าวเข้าไป จะเป็นอันตรายหรือไม่?
.
คำตอบคือ เชื้อราสีขาวเหล่านั้นไม่มีอันตราย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการเก็บตัวอย่างของ “มะขามหวาน” ที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป และตามไร่มะขามหวานในจังหวัดต่างๆ ในสายพันธุ์ มะขามหวานพันธุ์สีทอง, พันธุ์หมื่นจง เเละพันธุ์ศรีชมภู เพื่อทำการตรวจสอบหาสารพิษจากเชื้อราสีขาวๆ ที่พบในเนื้อมะขามหวาน
.
หลังจากการตรวจสอบก็ได้ข้อสรุปว่า พบเชื้อราในตัวอย่างมะขามหวานทั้งหมด 69 ชนิด เช่น Pestalotiopsis sp., Aspergillus Gcr, Penicillium sp., Fusarium sp., Rhizopus sp., Aureobasidium pullulans., Alternaria sp., Curvularia Lunata, Cladosporium sp., และ Candida sp. ฯลฯ ซึ่งทุกชนิดดังกล่าวนี้ “เป็นกลุ่มของเชื้อราที่ไม่สร้างพิษ” ดังนั้นผู้บริโภคจึงสามารถรับประทานได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
.
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลล่าสุดจากนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้คำอธิบายในกรณีนี้ว่า เชื้อราขาวบนมะขามหวานเป็นเชื้อราที่ไม่สร้างสารพิษและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจริง แต่กรมอนามัยขอให้ประชาชนเลือกกินเฉพาะมะขามที่ไม่ขึ้นราดีกว่า!
.
เนื่องจากมะขามหวานที่ขึ้นราอาจมีการปนเปื้อนเชื้อราชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น
1) Aflatoxins
2) Ochratoxins
3) Zearalenone
4) Trichothecenes
.
โดยเชื้อราเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีพิษอันตรายและอาจปนเปื้อนมากับราชนิดที่ไม่มีพิษได้ ซึ่งเชื้อรากลุ่มที่มีพิษข้างต้น หากรับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดพิษต่อตับโดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 3 – 8 ขวบ และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ และส่งผลเสียต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต
.
เอาเป็นว่า ใครที่ชอบกินมะขามหวานก็ไม่ต้องกลัวเชื้อราขาว เพราะมันไม่มีอันตราย แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปก่อนดีกว่า นอกจากเชื้อราบนมะขามหวานแล้ว รู้หรือไม่? ยังมีอาหารบางชนิดที่มีส่วนประกอบของเชื้อราที่ไม่มีพิษ เช่น เชื้อราสีฟ้าในบลูชีส (เนยแข็งชนิดหนึ่ง) ก็สามารถกินได้อย่างปลอดภัย
.
อีกทั้งอาหารอีกหลายชนิดก็ผลิตจากจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน ได้แก่ โยเกิร์ต, นมเปรี้ยว, เบียร์, ไวน์, เหล้าทุกชนิด, ซีอิ๊ว, เต้าเจี้ยว, กะปิ, เต้าหู้ยี้, กิมจิ, มิโสะ ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านี้สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย และไม่มีพิษที่เกิดจากจุลินทรีย์ ยกเว้นคนที่แพ้อาหารกลุ่มนี้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เมษายน 2566
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ